14 มกราคม 2563
ที่มา: http://thainewsbiz.com/archives/1362
วันอังคารที่ 14 มกราคม 2563 เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุม 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในการสนับสนุนทุนปริญญาเอกศักยภาพสูง ภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และโครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 (C2F) โดยต้องผลิตผลงานวิจัยในวารสารชั้นนำระดับนานาชาติ
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า “เงินทุนจาก C2F ได้เสริมพลังให้ผลงานวิจัยของจุฬาฯ ไปสู่เป้าหมายทัดเทียมในระดับนานาชาติ เป็นที่น่ายินดีที่ในปี 2562 มีนิสิตปริญญาเอกของ จุฬาฯ ที่สามารถรับทุน คปก. รุ่น 22 ควบคู่ไปกับทุน C2F จุฬาฯ รวม 11 ทุน และ มีอาจารย์ที่ปรึกษา จำนวน 10 ท่าน จาก 6 คณะ คือ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย ความร่วมมือในครั้งนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ซึ่งช่วยลดอุปสรรคที่กำหนดให้นิสิตรับทุนได้เพียงทางเดียว โดยมุ่งเพิ่มคุณภาพผลผลิตงานวิจัยให้มีคุณภาพสูง ตั้งเป้าผลิตผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติชั้นนำระดับ top 10% ( Tier 1)
“ความร่วมมือนี้คาดหวังว่าจะทำให้มีผู้สมัครที่มีศักยภาพสูงสนใจเรียนต่อปริญญาเอกเข้ามารับทุนในโครงการทุน คปก. และ C2F เพิ่มมากยิ่งขึ้น และนิสิตปริญญาเอกที่เรียนจบสามารถต่อยอดเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกศักยภาพสูง หรือ Postdoc ด้วยทุน C2F จุฬาฯ ได้อีกด้วย” อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า “ทุน คปก.เป็นทุนที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของ วช. โดยให้การสนับสนุนค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่าตอบแทนอาจารย์ที่ปรึกษา ทุนทำวิจัย และเงินสนับสนุนการทำวิจัยต่างประเทศ ในขณะที่โครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 (C2F) ได้สนับสนุนทุนการศึกษาแก่นิสิตปริญญาเอกศักยภาพสูงที่ให้ค่าใช้จ่ายสูงกว่า โดยต้องผลิตงานวิจัยคุณภาพ สูงขึ้น ดังนั้นเพื่อให้ทุนการศึกษาทั้งสองส่วนหนุนเสริมให้นิสิตปริญญาเอกสามารถสร้างงานวิจัยคุณภาพสูงตีพิมพ์ ในวารสารนานาชาติชั้นนำระดับ top 10% จึงเปิดโอกาสให้สามารถรับทุนทั้งสองแหล่ง โดยสนับสนุนไม่เกินจำนวน ที่ได้รับสูงสุดของส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งนิสิตจะได้รับทุนการศึกษาเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนๆ ละ 30,000 บาท รวมทั้งการสนับสนุนอื่นๆ”
“ความร่วมมือในครั้งนี้แสดงถึงทิศทางการทำงานร่วมกันที่ทั้งสองหน่วยงานมุ่งตอบสนองผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์หลักในการมุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ทาง วช. ยินดีร่วมมือกับจุฬาฯในการสนับสนุนการดำเนินการในลักษณะนี้ เพราะจะส่งผลต่อผลงานการวิจัยที่มีคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยที่ทัดเทียมมหาวิทยาลัย ชั้นนำในระดับโลก” ผู้อำนวยการ วช. กล่าว
นอกจากนี้แล้ว ยังได้รับเกียรติจากท่าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำกับดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ได้ร่วมเป็นพยานในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้