16 ตุลาคม 2563
ที่มา: คอลัมน์การศึกษา สยามรัฐออนไลน์ https://siamrath.co.th/n/189762
แม้ว่าการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับโลกจะเปลี่ยนไปในแต่ละปี เป็นที่น่ายินดีที่ในปีนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับที่ดีกว่าปีที่แล้วในการจัดอันดับโลกในสามการจัดอันดับสำคัญ ในการจัดอันดับของ QS จุฬาฯ ได้เข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงด้านวิชาการเป็นอันดับ 1 ใน 100 ของโลก และอันดับภาพรวมที่ดีขึ้นจาก 247 เป็น 208 สำหรับ THE ได้รับการจัดอันดับที่ 601-800 จากเดิมลำดับที่ 801-1000 และ THE Impact Ranking ที่มุ่งเน้นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้รับการจัดอันดับที่ 101-200
ทั้งนี้ ทั้งสามการจัดอันดับดังกล่าว จุฬาฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่หนึ่งของประเทศไทย ความรุดหน้าระดับโลกดังกล่าวเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยของชาติที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมกรรมระดับโลกอย่างต่อเนื่อง
ท่ามกลางข้อจำกัดด้านงบประมาณการวิจัยและความคาดหวังสำหรับบทบาทในการแก้ปัญหาวาระแห่งชาติ นอกเหนือจากการยกระดับมหาวิทยาลัยขึ้นสู่อันดับต้นของโลกแล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางวิชาการในการเข้าสู่การวิจัยในระดับโลกด้วยการพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาโควิด 2019 ในหลายส่วน เช่น การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยศูนย์วัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด บริษัท start up วิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ สังกัดคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยในปัจจุบันการดำเนินการดังกล่าวรุดหน้าถึงระดับการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองอย่างได้ดียิ่ง ทำให้ได้รับการยอมรับทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศ ทำให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณจำนวนหนึ่งในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิดให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ในท่ามกลางวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น จุฬาฯ ไม่เพียงมีความพยายามในการคิดค้นและพัฒนาวัคซีน แต่ยังได้มีความพยายามในการคิดค้นสร้างสรรค์อุปกรณ์นวัตกรรมทางการแพทย์ เช่น ผลิตหุ่นยนต์หลายรูปแบบที่สามารถช่วยแพทย์พยาบาลในการรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด ชุดตรวจผลเลือดเพื่อคัดกรองเบื้องต้นว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่ ด้วยวิธีที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยชั้นนำในโลกที่รายงานต่อสาธารณะว่ามีโอกาสผลิตวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว พบว่างบประมาณของมหาวิทยาลัยเหล่านั้น ทั้งในการพัฒนาวัคซีนและงบประมาณในภาพรวมของบรรดามหาวิทยาลัยในระดับสากลสูงกว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างมีนัยสำคัญ
ต้องยอมรับโดยข้อเท็จจริงว่าโอกาสที่จะทำให้การวิจัยสร้างนวัตกรรมระดับโลกเป็นไปได้ดี จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านงบประมาณส่งเสริมระบบนิเวศและระบบสนับสนุนการวิจัยเพื่อยกระดับการวิจัยที่มีอยู่ให้ครอบคลุมเป้าหมายที่พึงปรารถนา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนทั้งจำนวนงบประมาณและพลิกโฉมระบบสนับสนุนงบประมาณการวิจัยแก่มหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของประเทศไทย โดยเฉพาะการจัดทำข้อเสนอเพื่อรับงบประมาณจากรัฐบาลที่มีทิศทางที่ยังไม่ชัดเจน และข้อจำกัดของการอนุมัติงบประมาณอาจมาจากประเด็นหลากหลาย เช่น ข้อจำกัดด้านงบประมาณทั้งหมด การกระจายงบประมาณเพื่อให้เกิดความพึงพอใจของทุกส่วน ปัญหาการจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัยเรื่องใดสำคัญกว่ากัน ระบบการอนุมัติงบประมาณที่เป็นอยู่ ฯลฯ
ทางแก้ปัญหาที่สำคัญแนวทางหนึ่ง คือ การใช้แนวคิดของการอนุญาตให้มีระบบงบประมาณข้ามปี Multiyear Block Grant ด้วยระบบ Sandbox ที่มีการดำเนินงานงบประมาณที่ยืดหยุ่น ซึ่งได้รับการกล่าวถึงหลายครั้ง รวมทั้งในปัจจุบัน แต่ยังไม่มีการทำโครงการนำร่อง หรือ การดำเนินการในทันทีให้บรรลุผล
เมื่อเกิดการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กระทรวง อว. ขึ้น มีการประกาศโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ที่กระทรวง อว. จะสนับสนุนงบประมาณ จึงเป็นความหวังที่ระบบงบประมาณ Multiyear Block Grant ด้วยระบบ Sandbox จะเกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ กระทรวง อว. ได้ให้มีการเสนอของบประมาณในปี 2563 และ 2564 แต่ยังไม่พบว่ามีการประกาศให้งบประมาณสำหรับการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยดังกล่าว การเสนอของบประมาณในปี 2565 ที่ดำเนินอยู่จึงเป็นความหวังของมหาวิทยาลัยวิจัยไทยที่จะได้รับการผลักดันสู่แนวหน้าของโลก
การได้มองข้อมูลเชิงประจักษ์ให้เห็นและเข้าใจธรรมชาติของมหาวิทยาลัยวิจัย ผ่านมุมมองของหน้าต่างโอกาส อาจทำให้เกิดแนวทางใหม่ในการตัดสินใจสนับสนุนและอนุมัติงบประมาณที่สอดคล้องกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัยวิจัย สิ่งที่เกิดกับ ปรากฎการณ์ หนึ่งมหาวิทยาลัย สองโอกาสเพื่อความสำเร็จของวัคซีนโควิด-19 แม้ว่าขณะนี้อาจไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางในปัจจุบันเนื่องจากผลิตภัณฑ์วัคซีนยังไม่ได้ออกสู่การผลิตและการใช้จริง
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้อาจทำให้ให้รัฐบาลได้โอกาสผลักดันผลงานนวัตกรรมสร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัยวิจัยและสนับสนุนส่งเสริมเพื่อยกระดับให้สามารถบรรลุเป้าหมายแบบก้าวกระโดด เป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการพลิกโฉมการสนับสนุนงบประมาณให้มหาวิทยาลัยวิจัยของไทยมีโอกาสสร้างสรรค์นวัตกรรมระดับโลก
รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแผนงาน C2F