จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา และจังหวัดน่าน ร่วมหารือแนวทางฟื้นเศรษฐกิจชุมชนจังหวัดน่านอย่างยั่งยืน หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 เพื่อเพิ่มโอกาสการทำงานของคนในชุมชนจากอุสาหกรรมการท่องเที่ยว ณ ศาลากลางจังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ ดร. จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะทำงานโครงการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) นำเสนอผลการดำเนินงานโครงการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ต่อที่ประชุม ประกอบด้วย คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน นายจรินทร์ จักกะพาก สมาชิกวุฒิสภา และนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เกี่ยวกับการลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลในพื้นที่จังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2565 เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนางานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในจังหวัดน่านต่อไป
โครงการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ได้รับการสนับสนุนจากโครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ กองทุนศตวรรษที่ 2 (C2F) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ฉันทนา หวันแก้ว เป็นหัวหน้าโครงการ และ รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา ที่ปรึกษาโครงการ ร่วมกับคณาจารย์จากส่วนงานต่าง ๆ ทั้ง คณะอักษรศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยสังคม สถาบันการขนส่ง สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม และอีกหลายหน่วยงาน ที่เข้าร่วมโครงการ โดยดำเนินการในพื้นที่จังหวัดน่าน และ บริเวณอันดามัน ได้แก่ จังหวัดระนอง และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2562-2565
วัตถุประสงค์ของโครงการ คือการเพิ่มคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวของชุมชนในจังหวัดน่าน เน้นการอนุรักษ์วัฒนธรรมและใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนางานออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่มีความร่วมสมัย และการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว โดยดึงอัตลักษณ์เด่นของจังหวัดน่านมาพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวตามรอยวัฒนธรรม ได้แก่ งานสิ่งทอ งานหัตถกรรม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร บริการเสริมสุขภาพ โฮมสเตย์ การท่องเที่ยวสีเขียว (Green) เศรษฐกิจหมุนเวียน และการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ นวัตกรรมขยะเป็นศูนย์ (Zero waste) และคาร์บอนต่ำ (Low carbon) เป็นต้น
ผลจากการดำเนินการโครงการที่ผ่านมา เกิดเป็นการรวมตัวของคนในชุมชน ผู้ประกอบการ และฐานข้อมูลที่สำคัญภายในท้องถิ่น อาทิ ข้อมูลภูมิศาสตร์เส้นทางการท่องเที่ยว แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นจากสิ่งทอ ชุมชนเข้มแข็งชูอัตลักษณ์วิถีชุมชนดั้งเดิม 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนมณีพฤกษ ชุมชนห้วยสะแตง ชุมชนยอด ชุมชนบ่อเกลือใต้ และชุมชนสันทะ รวมทั้งขยายผลเป็นธุรกิจนำเที่ยวทางวัฒนธรรม ได้แก่ เส้นทางสายทุนวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เที่ยว ทัศน์ ทอ รักษ์สุขภาพ ประวัติศาสตร์หลวงติ๋น และ วิถีชุมชนเกษตร กลไกการดำเนินงานของโครงการ Creative Tourism เป็นการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันการเรียนรู้และการประกอบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Creative Tourism Academy – CUCT) ออกแบบและทดลองจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนฐานงานวิจัย ให้คำปรึกษา บริการความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลภูมิศาสตร์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ การสื่อสารเพื่อการตลาด การพัฒนาตัวแบบธุรกิจเพื่อสังคม ตลอดจน การพัฒนาตลาดเฉพาะ ผ่านการเรียนรู้ เผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ
#C2Fwow
#C2FHighImpactProgram