จุฬาฯ มุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม ประกาศจ้างงานนิสิตปริญญาเอกและนักวิจัยวุฒิปริญญาเอกหัวกะทิปีละ 500 คน

12 ตุลาคม 2020

ที่มา : สำนักบริหารวิจัย https://www.research.chula.ac.th/th/news/9734/

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุกสร้างงาน สร้างนวัตกรรม สร้างสรรค์สังคม ประกาศจ้างนิสิตปริญญาเอกและนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูงปีละ 500 คน ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2562 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มสนับสนุนทุนนิสิตปริญญาเอกและนักวิจัยหลังปริญญาเอกศักยภาพสูง โดยใช้งบประมาณจากกองทุนศตวรรษที่สอง ที่เป็นรายได้จากการจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่ของห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ในแต่ละปีมาดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งชาติระดับโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อ การพัฒนาผู้นำแห่งอนาคต (Future Leader) การสร้างนวัตกรรมและงานวิจัยคุณภาพ (Impactful Research and Innovation) และ การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainability)

ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก การมีเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องมีนักวิจัยคุณภาพสูงที่จะเป็นนักวิจัยแนวหน้า (Top Talent) การสร้างกลไกการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพงานวิจัยให้ก้าวสู่เวทีนานาชาติทั้งอาจารย์ นักวิจัย และ นิสิต จำเป็นต้องมีความร่วมมือกัน จุฬาฯ จึงได้สนับสนุนทุนจากกองทุนศตวรรษที่สอง โครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ จากรายได้การจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่สรรพสินค้ามาบุญครอง นำมาสร้างเสริมกำลังคนด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม เพื่อสร้างความยั่งยืน ส่งผลดีต่อทั้งการสร้างงานวิจัยนวัตกรรมที่จะสร้างรายได้ต่อเนื่องให้กับประเทศสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจและสร้างกำลังคนที่จะต่อยอดการวิจัยและพัฒนาขั้นสูงเป็นฐานของนวัตกรรมการวิจัยและการสร้างรายได้ให้ประเทศต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เปิดเผยในโอกาส ที่ ศาสตราจารย์ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าเยี่ยม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2563 นี้ว่า “การดำเนินการโครงการสนับสนุนการสร้างนักวิจัยแนวหน้าในการให้ทุนนิสิตปริญญาเอกและนักวิจัยศักยภาพสูงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากเป็นการพัฒนากำลังคนนักวิจัยที่เป็นพื้นฐานสำคัญของมหาวิทยาลัยแล้ว ยังเป็นการสร้างงานให้กับนิสิตที่จบใหม่ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก ที่สามารถต่อยอดการพัฒนาทักษะในการทำวิจัยขั้นสูง เป็นการช่วยประเทศชาติในการจ้างงานแรงงานระดับมันสมอง สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล และ นโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ให้มีการสร้างงานให้กับบัณฑิตจบใหม่ โดยในภาวะที่การจ้างงานถดถอย แต่มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะตอบรับการสร้างงานให้กับบัณฑิตที่มุ่งมั่นทำงานวิจัยคุณภาพสูงเพื่อเป็นฐานการสร้างงาน สร้างรายได้ของประเทศ”  ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณสนับสนุน นิสิตและนักวิจัยที่จะมาสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมจากผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์กายภาพ และ สังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ ในปีงบประมาณ 2563-2565 จึงกำหนดให้มีการดำเนินการให้ทุนนิสิตปริญญาเอกศักยภาพสูง และ นักวิจัยหลังปริญญาเอกศักยภาพสูง หรือ Postdoc จำนวนประมาณ 500 คนต่อปี โดยมีกระบวนการคัดเลือกอาจารย์และนักวิจัยที่มีผลงานระดับนานาชาติเผยแพร่ในวารสารวิชาการชั้นนำร่วมกับอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในร้อยอันดับแรกของโลก ตลอดจนให้มีการเชื่อมโยงกับการพัฒนางานวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมให้ยั่งยืนตามเป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs)

ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการสนับสนุนการสร้างนักวิจัยแนวหน้าในการให้ทุนนิสิตปริญญาเอกและนักวิจัยศักยภาพสูงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดังกล่าวว่า “ในปี 2564 นี้ ได้มุ่งเป้าที่จะดำเนินการให้มีจำนวนผู้รับทุนนักวิจัยหลังปริญญาเอกศักยภาพสูง หรือ Postdoc จำนวน 210 คน และ ผู้รับทุนนิสิตปริญญาเอกศักยภาพสูง จำนวน 290 คน โดยเป็นการนำรายได้จากการจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่มาบุญครองมาสร้างประโยชน์ให้กับการสร้างคนและสร้างงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมไทย นอกจากการสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่าเล่าเรียนแล้ว มีการสนับสนุนทุนไปทำวิจัยกับอาจารย์และนักวิจัยที่ทำงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลกที่เป็นพันธมิตรวิชาการและทำงานวิจัยร่วมกัน”

ข้อมูลจากสำนักงานแผนงานสนับสนุนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งชาติระดับโลก โครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 (C2F) ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีผู้รับทุนนักวิจัยหลังปริญญาเอกศักยภาพสูง หรือ Postdoc จำนวน 137 คน และ ผู้รับทุนนิสิตปริญญาเอกศักยภาพสูง จำนวน 219 คน อยู่ในการกำกับดูแลของคณาจารย์และนักวิจัยที่มีผลงานระดับนานาชาติ จำนวน 224 คน  สำหรับผู้สนใจสมัครทุนนักวิจัยปริญญาเอกศักยภาพสูง (C2F PhD) และ นักวิจัยหลังปริญญาเอกศักยภาพสูง (C2F Postdoc) สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานแผนงานสนับสนุนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งชาติระดับโลก โครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ กองทุนศตวรรษที่ 2 (C2F) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร 02-218-3232, 02-218-3233

โดย วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแผนงานกองทุนศตวรรษที่ 2 (C2F) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Share